CHINA + 1 การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของจีนและโอกาสของไทย

CHINA + 1 การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของจีนและโอกาสของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ค. 2566

| 4,050 view

(ภาพจาก : https://www.beroeinc.com)

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตในประเทศจากอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเป็นหลัก อาทิ สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ และอื่น ๆ ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักร รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงซึ่งมุ่งเน้นเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า โดรน หุ่นยนต์ เครื่องบิน และอื่น ๆ

จากการเปลี่ยนแปลงนี้ จีนจึงพยายามที่จะรักษาสถานะในการเป็น “โรงงานของโลก” และสร้างสมดุลในห่วงโซ่การผลิตโดยการกระจายฐานการผลิตออกนอกประเทศไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนสูง ซึ่งกลยุทธ์ทางการค้าลักษณะนี้เรียกว่า “กลยุทธ์ China+1

นอกจากบริษัทของจีนแล้ว บริษัทของประเทศอื่น ๆ ที่มีฐานการผลิตในจีน อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็มีความพยายามในการปรับลดปริมาณการผลิตในจีน และกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่น ๆ เช่นกัน

 

สาเหตุสำคัญที่ผู้ประกอบการในจีนต้องกระจายความเสี่ยงและขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น

1.ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และยังดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีความยากลำบาก เนื่องจากสินค้าหลายประเภทถูกกีดกันการส่งออกและต้องเผชิญกับกำแพงภาษีที่ตั้งไว้สูง ต้นทุนสินค้าจึงสูงขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาในการควบคุมราคาสินค้า รวมไปถึงอุปสรรคอื่น ๆ ในการส่งมอบสินค้าให้ทันเวลา

2. อัตราค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา จากความเจริญก้าวหน้าของประเทศที่เปลี่ยนนโยบายจากประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน ไปสู่ประเทศที่เน้นการใช้แรงงานมีฝีมือและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

3.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีนซึ่งเป็นผลจากนโยบาย One-Child Policy ที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ อนุญาตให้คนจีนมีบุตรได้เพียงครอบครัวละ ๑ คน ทำให้ประชากรในวัยแรงงานจีนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

4.มาตรการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid-19) ของจีนในช่วง การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-๑๙ ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีน เนื่องจากปริมาณการขนส่งระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ลดลงจนถึงเกือบหยุดชะงัก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกขาดสมดุล ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มหาทางเลือกอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต โดยเริ่มลดการลงทุน  ในจีนและกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น

5.รัฐบาลจีนประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ที่เน้นให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่กับการหมุนเวียนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการค้าระหว่างประเทศ ทำให้จีนปรับลดมาตรการและเงินสนับสนุนต่าง ๆ ที่เคยให้กับผู้ส่งออกลง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกจำนวนมากต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

6.นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วม ซึ่งนโยบายนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทที่มีศักยภาพของจีนสามารถขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีความร่วมมือตามข้อริเริ่มนี้ได้อย่างสะดวก ลดความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ และสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง

 

ตัวอย่างของบริษัทในจีนที่ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ตามนโยบาย CHINA + 1

  1. รถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัท Great Wall Motor ขยายฐานการผลิตมาเปิดโรงงานที่ไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๔
  2. รถยนต์ยี่ห้อ MG ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Shanghai Automotive Industry Corporation (SAIC) กับบริษัทไทยในเครือเจริญโภคภัณฑ์
  3. รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ BYD ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท BYD ของจีนกับบริษัท WHA Group ของไทยโดยมีการลงนามสัญญาร่วมทุนเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อจะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ที่จังหวัดระยอง
  4. บริษัท หัวเหว่ย (Huawei) มีแผนลงทุนในประเทศไทยทั้ง ๔ ด้าน คือ 5G ธุรกิจพลังงานดิจิทัล การพัฒนาทักษะดิจิทัล และ Data Center & Cloud
  5. บริษัท Alibaba ซึ่งเป็นผู้นำพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของจีน ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่ (new data center) ในไทย

         

(ภาพจาก : www.mgronline.com)                            (ภาพจาก : www.finnomena.com)

6. บริษัท KGK Jewellery (Hong Kong) LTD. ผู้นำอุตสาหกรรมอัญมณีระดับโลกที่มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายมากกว่า ๑๗ ประเทศ เป็นผู้เจียระไนเพชรให้แก่บริษัทชั้นนำอย่าง De Beers โดยในปัจจุบันบริษัท KGK มีพนักงานทั่วโลกรวมทั้งสิ้น ๑๕,๐๐๐ คน มีฐานการผลิตบางส่วนในประเทศจีน และเริ่มขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ บริษัท KGK มีโครงการสร้างโรงงานแห่งที่ ๒ ในประเทศไทย แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือด้านอัญมณี สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง จึงได้ผลักดันความร่วมมือระหว่างบริษัทกับกระทรวงแรงงาน ในช่วงโอกาสการเยือนฮ่องกงของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสนับสนุนการขยายฐานการผลิตในประเทศไทย โดยได้จัดให้มีการแสดงเจตจำนงระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อส่งเสริมโครงการฝึกอบรมแรงงานมีฝีมือรองรับความต้องการแรงงานด้านอัญมณี ๕๐๐ – ๖๐๐ อัตรา

                                         (ภาพจาก : www.thaipost.net)

 

(ภาพจาก : https://www.kgkgroup.com )                   (ภาพจาก : https://www.kgkgroup.com )

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจาก China + 1

  1. การพัฒนาทักษะแรงงานและโอกาสในการได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านการขยายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย (knowledge transfer) จะทำให้แรงงานไทยในอนาคตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่ประเทศจีนได้พัฒนาตนเองผ่านการลงทุนของประเทศตะวันตกในอดีต ทำให้แรงงานจีนในปัจจุบันมีความรู้ความสามารถในการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ที่เคยได้รับต่อไปได้ และนำมาสู่การพัฒนาประเทศในที่สุด
  2. การเพิ่มขึ้นของปริมาณการจ้างงานในประเทศไทย เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการบุคลากรและแรงงานท้องถิ่นจำนวนมาก
  3. การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จากการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคการส่งออก อันเกิดจากการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรมีรายได้มากขึ้น และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ
  4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคในพื้นที่ที่มีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถรองรับการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า และอื่น ๆ ทำให้เกิดความเจริญในชุมชน
  5. สร้างโอกาสให้บริษัทสัญชาติไทยที่มีศักยภาพในการขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศใหม่ ๆ โดยอาศัย การเรียนรู้ ประสบการณ์และความชำนาญของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีน และขยายการลงทุนมายังประเทศไทย หรือ อาจร่วมมือกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในการขยายตลาดการส่งออกไปยังต่าง   ประเทศเพื่อเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน อย่างที่จีนเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ดังเช่นกรณีศึกษาของบริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Volkswagen ประเทศเยอรมนี ที่ร่วมทุนกับบริษัทผลิตรถยนต์ SAIC Motor ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗  ต่อมา บริษัท SAIC ได้พัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศจีนจนสามารถเข้าซื้อกิจการรถยนต์ยี่ห้อ MG ซึ่งเป็นรถยนต์ประเทศอังกฤษได้สำเร็จหลังจากนั้น รถยนต์ยี่ห้อ MG ได้ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยตั้งโรงงานแห่งแรกที่จังหวัดชลบุรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ และเปิดโรงงานเพิ่มแห่งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อขยายธุรกิจไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

 

(ภาพจาก : https://www.autodeft.com)                    (ภาพจาก : https://www.carandbike.com)

 

แหล่งที่มาข้อมูล :

 

https://inlps.com/china-plus-one/

https://www.wha-group.com/th/news-media/company-news/615/china-plus-one

https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/341-

https://brandinside.asia/china-plus-one-supply-chain/

https://www.angelone.in/blog/what-is-the-china-plus-one-strategy

https://www.beroeinc.com/whitepaper/china-plus-one-strategy-an-imperative-to-achieve-  supply-chain-resilience/

https://positioningmag.com/1346418

https://www.kgkgroup.com/th/story-of-kgk/

https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9650000090960

https://www.thaipost.net/public-relations-news/316338/

https://drivetripper.com/mg-New-assemblyplant-thailand

https://asia.nikkei.com/Business/Companies/SAIC-pushes-into-emerging-markets-with-MG-brand

https://www.mgcars.com/en/NewsActivities/Detail/MG_New_Factory


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง