บทวิเคราะห์ตลาด IPO ของฮ่องกงและแนวโน้มในปี พ.ศ. ๒๕๖๖

บทวิเคราะห์ตลาด IPO ของฮ่องกงและแนวโน้มในปี พ.ศ. ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 เม.ย. 2566

| 966 view

บทวิเคราะห์ตลาด IPO ของฮ่องกงและแนวโน้มในปี พ.ศ. ๒๕๖๖

ฮ่องกงเป็นแหล่งระดมทุนที่มีขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยในช่วงปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๕ ฮ่องกงต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดทุนสูง อันเนื่องมาจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกสำคัญหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนและรูปแบบของบริษัทใหม่ ๆ ที่ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า การเปิด Initial Public Offering (IPO) อย่างมีนัยยะสำคัญ

Statistics in year 2019 (๒๕๖๒) in year 2020 (๒๕๖๓) in year 2021 (๒๕๖๔) in year 2022 (๒๕๖๕)
         
         
Number of new listed companies 183 154 98 90
         
Total Equity funds raised  (HK $million) 451,981.80 743,654.50 770,734.70 251,888.80
         
IPO Equity Funds Raised (World Rank) 1 2 4 4
         
Percentage of newly listed companies 62% 70% 89% 83%
from Mainland Enterprises in HK stock market        
         

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงปลายปี ๒๕๖๒ – กลางปี ๒๕๖๓ ของฮ่องกง ได้แก่

๑. เหตุการณ์ไม่สงบภายในเมืองฮ่องกงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ อย่างต่อเนื่องจนถึง๒๕๖๓ เพื่อประท้วงรัฐบาลกลางจีนที่เข้ามามีอิทธิพลในการปกครองภายในฮ่องกงภายใต้นโยบาย ๑ ประเทศ ๒ ระบบ และได้ลุกลามต่อเนื่องจนเกิดผลกระทบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของพลเมืองฮ่องกงในช่วงดังกล่าว

๒. ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงประกาศให้เป็นโรคระบาดที่ต้องควบคุมเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓ และมีการดำเนินนโยบายและมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันและควบคุมโรคภายในเมือง รวมไปถึงมาตรการควบคุมการขนส่งและเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้การเดินทางมีความยากลำบาก และการดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก

๓. รัฐบาลฮ่องกงประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง (National Security Law) เมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเมืองภายใต้นโยบาย ๑ ประเทศ ๒ ระบบ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้นักลงทุนจากทั้งเอเชียและตะวันตกเกิดความไม่มั่นใจในอิสรภาพของการเคลื่อนย้ายทุนและโอกาสการเติบโตของตลาดในภูมิภาค ส่งผลให้ปริมาณการลงทุนลดลงและมีการเคลื่อนย้ายทุนออกจากเมือง ซึ่งสะท้อนได้จากจำนวนของบริษัทที่ทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ลดลงจาก ๑๘๓ บริษัทในปี ๒๕๖๒ เหลือเพียง ๑๕๔ บริษัทในปี ๒๕๖๓ โดยสัดส่วนของบริษัทจากชาติตะวันตกที่เข้าระดมทุนในตลาดฮ่องกงได้ลดจำนวนลงในขณะที่บริษัทใหม่จากประเทศจีนได้เพิ่มมากขึ้นโดยคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของจำนวนบริษัทที่ระดมทุนในปี ๒๕๖๓ ทั้งหมด ต่อมาในปี ๒๕๖๔ จำนวนบริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง ๙๘ บริษัท และในปี ๒๕๖๕ ลดลงอีกเหลือเพียง ๙๐ บริษัท

ในภาพรวม จำนวนบริษัทที่เข้ามาใหม่จากประเทศจีนมีสัดส่วนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับบริษัทจากชาติตะวันตกที่ค่อย ๆ ลดน้อยลง ซึ่งนอกเหนือจากสถานการณ์การเมืองภายในฮ่องกงแล้ว สาเหตุสำคัญที่บริษัทจากชาติตะวันตกมีการระดมทุนในตลาดฮ่องกงลดน้อยลง คือ การที่กลุ่มประเทศตะวันตกได้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกัน ซึ่งวิกฤติเศรษกิจได้รุนแรงขึ้นด้วยข้อพิพาทด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่รัสเซียได้เคลื่อนย้ายกำลังพลเข้าสู่ยูเครนเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ส่งผลให้เกิดวิกฤติพลังงานและปัญหาเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ยาก รวมไปถึงภาคการขนส่งระหว่างประเทศที่ได้หยุดชะงักลง ทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต้องประสบปัญหาขาดทุนและต้องปรับลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย

โดยที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อและไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงในระยะสั้น รัฐบาลทั่วโลกจึงต้องพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดดเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวส่งผลลบต่อตลาดทุนอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตและต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง (Stagflation) และนำไปสู่ปัญหาด้านศักยภาพในการชำระหนี้ของบริษัทต่าง ๆ และจะมีผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจของภาคธนาคาร เนื่องจากอัตรา Nonperforming Loan (NPL) เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธนาคารประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและขาดทุนในที่สุด ซึ่งสะท้อนได้จากการประกาศล้มละลายของธนาคาร Signature bank ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ตามด้วยธนาคาร Silicon Valley bank ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๕ และได้มีการประกาศล้มละลายของธนาคารยักษ์ใหญ่ของยุโรป ได้แก่ Credit Suisse และสภาวะสั่นคลอนของธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Deutsche Bank ของเยอรมัน ส่งผลให้รัฐบาลประเทศเหล่านี้ต้องยื่นมือและออกมาตรการช่วยเหลือและพยายามควบคุมสภาวะสมดุลของทั้งภาคการเงินและภาคธุรกิจของประเทศ

อย่างไรก็ดี ขณะที่ตลาดทุนตะวันตกเผชิญความท้าทาย ตลาดทุนจีนได้ปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้นในระยะ ๓ ปีที่ผ่านมา ด้วยนโยบายที่เน้นการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาและผลักดันไปสู่ New Economy โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เป็นพื้นฐานและกลไกขับเคลื่อน โดยสังเกตได้จากกลุ่มประเภทของบริษัทใหม่ ๆ ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงนับตั้งแต่ ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา

ในอดีตบริษัทที่ระดมทุนจากการทำ IPO ได้มากที่สุด ๕ อันดับแรกในแต่ละปีจะมีลักษณะผสมผสานประกอบด้วยบริษัททั้งจากฝั่งประเทศตะวันตกและตะวันออก กอปรกับประเภทของธุรกิจก็มีลักษณะผสมผสานจากหลากหลายธุรกิจ โดยอธิบายได้จากตาราง Top ๕ ของปี ๒๕๖๒ ข้างล่างนี้

Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2019 (๒๕๖๒)
     
Rank Company Name IPO Funds Raised
    ( HK$ Billion )
1 Alibaba Group Holding Ltd.-SW 101.2
2 Budweiser Brewing Co. APAC Ltd. 45.08
3 CSR Cayman Ltd. 14.06
4 Shenwan Hongyuan Group Co.,Ltd. 9.09
5 Hansoh Pharmaceutical Group Co.,Ltd. 9.04
     

ทั้งนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่ปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ สังเกตได้ว่า บริษัทจากประเทศจีนที่อยู่ใน Top ๕ ของ IPO list ได้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนและเป็นกลุ่มธุรกิจ New Economy ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยนีใหม่เกือบทั้งหมด

Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2020 (๒๕๖๓)
     
Rank Company Name IPO Funds Raised
    ( HK$ Billion )
JD.com, Inc. -SW 34.56
2   JD Health International Inc. 31
3 NetEase , Inc. -S 24.26
4 Yum Cha Holdings, Inc. – S 17.27
5 China Bohai Bank Co.,Ltd. – H Shares 15.9
     

 

Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2021 (๒๕๖๔)
     
Rank Company Name IPO Funds Raised
    ( HK$ Billion )
1 Kuaishou Technology -W 48.3
2 JD Logistics, Inc. 28.27
3 Baidu, Inc. – SW 23.94
4 Bilibili Inc.- SW 23.23
5 Xpeng Inc.- W 16.02
     

ในปี ๒๕๖๕ ประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-๑๙ รวมถึงประเทศจีน ส่งผลให้ประเภทของธุรกิจของบริษัทที่เข้า IPO กลับมาเป็นรูปแบบผสมผสานอีกครั้ง ดังที่ปรากฏในตารางด้านล่าง

Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2022 (๒๕๖๕)
     
  Rank Company Name IPO Funds Raised
    ( HK$ Billion )
1 China Tourism Group Duty Free Corporation Ltd. 18.39
2 Tianqi Lithium Corporation – H Shares 13.46
3 CALB Co.,Ltd. – H Shares 10.1
4 Sunshine Insurance Group Co.,Ltd. 6.71
5 Onewo Inc. – H Shares 6.32
     

ในไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๖ ฮ่องกงได้ประกาศเปิดเมืองเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้ปรับลดมาตรการป้องกันโรคโควิด-๑๙ อย่างต่อเนื่องจนยกเลิกมาตรการฯ ในที่สุดในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนเดินหน้าเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนพร้อมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถกลับมาพัฒนาธุรกิจได้อีกครั้ง โดยมีบริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงจำนวน ๑๘ บริษัทในไตรมาสนี้ แม้ว่าจะยังเป็นจำนวนน้อยและระดมทุนได้ไม่มาก เพียง ๖.๖ พันล้านฮ่องกงดอลลาร์ แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณต่อไปได้ เนื่องจากอัตราการว่างงานในไตรมาสแรกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการผลักดันโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของภาครัฐ และปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า GDP ของฮ่องกงในปีนี้จะเติบโตได้ถึงร้อยละ ๕.๕ และจะมีบริษัทใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด IPO ในปีนี้ประมาณ ๑๑๐ บริษัท

 

แหล่งที่มาข้อมูล :

https://www.hkeconomy.gov.hk/en/situation/development/index.htm

https://www2.deloitte.com/cn/en/pages/audit/articles/mainland-and-hk-ipo-markets-in-q1- 2023.html

www.bserf.com

https://www.hkex.com.hk/

https://www.reuters.com/business/finance/svb-financial-seeks-bankruptcy-protection-2023-03-17/

https://www.cnbc.com/2023/04/05/switzerland-faced-a-bank-run-if-credit-suisse-went-bankrupt-swiss-regulator.html

https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/03/24/after-credit-suisses-demise-attention-turns-to-deutsche-bank