บทวิเคราะห์ตลาดผู้สูงอายุฮ่องกงกับโอกาสของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย (Medical & Wellness Tourism)

บทวิเคราะห์ตลาดผู้สูงอายุฮ่องกงกับโอกาสของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย (Medical & Wellness Tourism)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ค. 2566

| 2,479 view

ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเนื่องจากเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชีย โดยมีรายได้หลักมาจากภาคการเงินเป็นสำคัญ ประชากรฮ่องกงมีประมาณ ๗.๒๙ ล้านคน (ข้อมูลปี ๒๕๖๕) แม้ฮ่องกงจะเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่มากแต่เป็นประชากรที่มีกำลังซื้อสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลกในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา และหนึ่งในธุรกิจที่มีหลายประเทศให้ความสนใจในฮ่องกง คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการผู้สูงอายุ เนื่องจากปริมาณผู้สูงอายุในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้จากการขยายตัวของภาคธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดบทความนี้จึงเน้นศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญเบื้องต้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและแรงงานไทยให้เข้าใจถึงบริบทของธุรกิจนี้ในฮ่องกงพอสังเขปเพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจหรือการพัฒนาต่อยอดธุรกิจต่อไป

 

ข้อมูลโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุในฮ่องกง

“สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) คือสังคมที่มีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ ๑๐ ต่อประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกันมากกว่าร้อยละ ๗  ในปัจจุบันนี้ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศรวมทั้ง ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้มีปัญหาเรื่องนี้แล้ว โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณ ๗ ล้านคน ส่วนฮ่องกงมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ ๒๙ ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ข้อมูลในปี ๒๕๖๕) สิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้สูงอายุในฮ่องกงที่มีอายุเกินกว่า ๑๐๐ ปีได้เพิ่มขึ้นมาก จากจำนวนเพียง ๒๘๙ รายในปี ๒๕๒๔ ได้เพิ่มเป็น ๑๑,๕๗๕ รายในปี ๒๕๖๔ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้นทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง

จากข้อมูลตามแผนภูมิด้านบนพบว่า เมื่อสิ้นปี ๒๕๖๕ ฮ่องกงมีประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปถึงร้อยละ ๒๙ ซึ่งเกินกว่า ๑ ใน ๔ ของประชากรทั้งหมด ตามมาด้วยประชากรในกลุ่มอายุ ๔๐-๕๙ ปี ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๓๒ ทำให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุในอีก ๕ ปีข้างหน้าจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับประมาณ ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด

Note:
Figures from 1996 onwards are compiled based on the population estimates under the “resident population” approach instead of the “extended de facto” approach.
Source: Census and Statistics Department.

จากข้อมูลในแผนภูมิด้านบนนี้พบว่า เมื่อสิ้นปี ๒๕๖๕ ประชากรฮ่องกงจะมีสัดส่วนโดยประมาณ เป็นผู้ชายร้อยละ ๔๖   ผู้หญิงร้อยละ ๕๔  และอายุขัยโดยเฉลี่ยของผู้หญิงอยู่ที่ ๘๘ ปี ขณะที่ของผู้ชายอยู่ที่ ๘๒.๙ ปี  ซึ่งโครงสร้างประชากรประกอบด้วยผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ ๘ และมีอายุขัยโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้นทุกปี ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องบริการผู้สูงอายุ โดยเน้นที่ผู้หญิงเป็นหลัก

ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลฮ่องกง

  • ฮ่องกงมีปริมาณผู้สูงอายุมากเกินกว่าปริมาณสถานพยาบาลของภาครัฐที่จัดเตรียมไว้ให้ ทำให้การพบแพทย์หรือพยาบาลต้องรอคิวเป็นเวลานาน พลเมืองจึงจำเป็นต้องใช้บริการจากภาคเอกชนซึ่งมีราคาสูงกว่าไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลทั่วไปรวมไปถึงการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานและการบริการฟื้นฟูสุขภาพ
  • ภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดต่ำ และปัญหาการย้ายถิ่นฐานออกจากเมืองของบุคลากรในวิชาชีพนี้เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการของประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา สิงคโปร์ ฯลฯ และปัจจุบันมีการแข่งขันในการช่วงชิงบุคลากรวิชาชีพด้านนี้สูงมาก
  • ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลฮ่องกงสูงมาก ในขณะที่รายได้หลังเกษียณอายุมีจำกัด ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มมองหาทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าและสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยในปัจจุบันยังคงเลือกประเทศจีนใน Greater Bay Area เป็นอันดับ ๑ เนื่องจากเดินทางสะดวก ค่าใช้จ่ายน้อย และใช้ภาษาจีนกลาง ในขณะที่ประเทศไทยและเมืองไต้หวันเป็นตัวเลือกในลำดับรองลงมา

โอกาสของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย

Medical and Wellness Tourism เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพควบคู่กับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทั่วไป การรับคำปรึกษาทางการแพทย์ การทำศัลยกรรม ทันตกรรม และอื่น ๆ  ธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าสูงสำหรับประเทศไทยเนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างครบวงจร ประกอบด้วยการบริการด้านการโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร สถานพยาบาล รถเช่า พนักงานบริการ และอื่น ๆ ทั้งนี้ ข้อมูลของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน แสดงให้เห็นว่า ในปี ๒๕๖๐-๒๕๖๒  มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยในรูปแบบ Medical Tourism สูงถึง ๓.๖ ล้านคน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว ๔๑,๐๐๐ ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า ๙,๑๙๕ คนในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน พบว่า มีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่าปีละ ๓๙,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๔ ของรายได้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ในขณะที่ Wellness Tourism สามารถถึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้สูงถึง ๑๒.๕ ล้านคน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว ๔๐๙,๒๐๐ ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า ๕๓๐,๐๐๐ คน  (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตีพิมพ์ลงใน นสพ.ฐานเศรษฐกิจ เมื่อ ๓๐ ต.ค. ๒๕๖๔)

 

ข้อคิดเห็นเสนอแนะ

การจะขยายธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทยเพื่อดึงกำลังซื้อของคนฮ่องกงไปยังประเทศไทยควรดำเนินการในลักษณะความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยมีการวางแผนศึกษาอย่างรัดกุมในการวางกลยุทธ์ทางการตลาด เนื่องจากการเปิดตลาดฮ่องกงหากสามารถทำได้จะเป็นประตูสู่ตลาดจีนซึ่งมีปริมาณและมูลค่ามหาศาล สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมากมายและยั่งยืน

  • กลุ่มเป้าหมาย ของประเทศไทย ควรจะเป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลางในฮ่องกงที่มีรายได้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ ๕๕,๐๐๐ ฮ่องกงดอลลาร์/ เดือน (ขนาดของครัวเรือนอยู่ที่ ๒ คน) เนื่องจากตลาดของผู้มีรายได้ระดับบนแม้จะมีอยู่มากในเมืองนี้ แต่กลุ่มนี้มักจะไม่เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมาย (ตามข้อมูลของ South China Morning Post ในปี ๒๕๖๕ ฮ่องกงมีปริมาณเศรษฐีเป็นอันดับที่ ๗ ของโลก โดยให้นิยามว่า เศรษฐีคือ ผู้ที่มีทรัพย์สินเพื่อการลงทุน มากกว่า ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ดังนั้น ตลาดผู้มีรายได้ระดับปานกลางซึ่งมีปริมาณมากกว่า และ ไทยมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายกว่า จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
  • กลุ่มอายุ ของคนฮ่องกงที่มีความเป็นไปได้ในการเลือกใช้บริการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ ๔๐-๖๕ ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มอายุที่มีกำลังซื้อพอสมควรและยังสามารถเดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทยและฮ่องกงโดยสะดวก อีกทั้งคนเหล่านี้พร้อมที่จะยอมรับทางเลือกสำหรับการเกษียณอายุรูปแบบใหม่ๆ ที่คุ้มค่าและสะดวกสบายในอนาคต
  • ระยะเวลาและค่าใช้จ่าย คนฮ่องกงมีพฤติกรรมที่คุ้นเคยกับการไปเที่ยวประเทศไทยในระยะสั้นไม่เกิน ๑ สัปดาห์เนื่องจากฮ่องกงเป็น dynamic city ที่คนทำงานรวดเร็ว ชอบความเปลี่ยนแปลง ชอบสิ่งทันสมัย และการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ดังนั้นสังคมลักษณะนี้ทำให้คนฮ่องกงไม่ชอบอยู่กับที่แม้จะอายุมากขึ้นก็ตาม การเดินทางไปเพื่อที่จะอยู่ในไทยเป็นเวลานาน ๆ จึงยังไม่ใช่เป้าหมายของคนที่นี่  สำหรับค่าใช้จ่าย ราคาแพ็กเกจ เริ่มต้นไม่เกิน ๗,๐๐๐ ฮ่องกงดอลลาร์ / คน (รวมตั๋วเครื่องบิน ค่าตรวจสุขภาพเบื้องต้น ค่าโรงแรม ๔ วัน ๓ คืน) น่าจะดึงดูดให้คนฮ่องกงตัดสินใจได้ไม่ยาก

การสนับสนุนสินค้าไทยที่มีศักยภาพในการทำตลาดผู้สูงอายุในฮ่องกงควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

  • อุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ รถเข็น ฟันปลอม เครื่องช่วยฟัง ข้อต่อเทียม และอื่น ๆ เนื่องจากไทยสามารถผลิตและส่งออกไปยังตลาดโลกได้แล้ว โดยมีการขยายตัวของยอดสั่งซื้อถึงร้อยละ ๓๔.๔ ในปี ๒๕๖๔ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
  • สินค้าสุขภัณฑ์และสุขอนามัย ได้แก่ เก้าอี้นั่งสุขา ภาชนะรองรับการขับถ่าย และอื่น ๆ โดยในปี พ.ศ.๒๕๖๔ ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปยัง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ แคนาดาได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๖๕.๙ เมื่อเทียบกับปีก่อน
  • สินค้านวัตกรรมใหม่ ที่ไทยเริ่มมีการส่งออกแล้ว คือ ห้องน้ำพกพา ที่ใช้นวัตกรรม Liquid drop
  • อาหารเสริม โดยสินค้าในกลุ่มนี้ ประเทศไทยได้มีอัตราการส่งออกไปยังตลาดโลกมูลค่า ๓๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ แม้มูลค่ารวมจะดูไม่มาก แต่เมื่อนับเป็นสัดส่วนจะพบว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๖๕.๖ ใน ปี ๒๕๖๔ เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงว่าเป็นกลุ่มสินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกในอนาคต โดยตลาดคู่ค้าสำคัญในขณะนี้ คือ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม บาห์เรน แอลจีเรีย และบังกลาเทศ

 

แหล่งที่มาของข้อมูล :

–    China daily news : middle income in Hong Kong ( 08 September 2019) https://www.chinadaily.com.cn/