วันที่นำเข้าข้อมูล 28 เม.ย. 2566
บทวิเคราะห์ตลาด IPO ของฮ่องกงและแนวโน้มในปี พ.ศ. ๒๕๖๖
ฮ่องกงเป็นแหล่งระดมทุนที่มีขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยในช่วงปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๕ ฮ่องกงต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดทุนสูง อันเนื่องมาจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกสำคัญหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนและรูปแบบของบริษัทใหม่ ๆ ที่ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า การเปิด Initial Public Offering (IPO) อย่างมีนัยยะสำคัญ
Statistics | in year 2019 (๒๕๖๒) | in year 2020 (๒๕๖๓) | in year 2021 (๒๕๖๔) | in year 2022 (๒๕๖๕) |
Number of new listed companies | 183 | 154 | 98 | 90 |
Total Equity funds raised (HK $million) | 451,981.80 | 743,654.50 | 770,734.70 | 251,888.80 |
IPO Equity Funds Raised (World Rank) | 1 | 2 | 4 | 4 |
Percentage of newly listed companies | 62% | 70% | 89% | 83% |
from Mainland Enterprises in HK stock market | ||||
การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงปลายปี ๒๕๖๒ – กลางปี ๒๕๖๓ ของฮ่องกง ได้แก่
๑. เหตุการณ์ไม่สงบภายในเมืองฮ่องกงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ อย่างต่อเนื่องจนถึง๒๕๖๓ เพื่อประท้วงรัฐบาลกลางจีนที่เข้ามามีอิทธิพลในการปกครองภายในฮ่องกงภายใต้นโยบาย ๑ ประเทศ ๒ ระบบ และได้ลุกลามต่อเนื่องจนเกิดผลกระทบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของพลเมืองฮ่องกงในช่วงดังกล่าว
๒. ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงประกาศให้เป็นโรคระบาดที่ต้องควบคุมเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓ และมีการดำเนินนโยบายและมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันและควบคุมโรคภายในเมือง รวมไปถึงมาตรการควบคุมการขนส่งและเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้การเดินทางมีความยากลำบาก และการดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก
๓. รัฐบาลฮ่องกงประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง (National Security Law) เมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเมืองภายใต้นโยบาย ๑ ประเทศ ๒ ระบบ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้นักลงทุนจากทั้งเอเชียและตะวันตกเกิดความไม่มั่นใจในอิสรภาพของการเคลื่อนย้ายทุนและโอกาสการเติบโตของตลาดในภูมิภาค ส่งผลให้ปริมาณการลงทุนลดลงและมีการเคลื่อนย้ายทุนออกจากเมือง ซึ่งสะท้อนได้จากจำนวนของบริษัทที่ทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ลดลงจาก ๑๘๓ บริษัทในปี ๒๕๖๒ เหลือเพียง ๑๕๔ บริษัทในปี ๒๕๖๓ โดยสัดส่วนของบริษัทจากชาติตะวันตกที่เข้าระดมทุนในตลาดฮ่องกงได้ลดจำนวนลงในขณะที่บริษัทใหม่จากประเทศจีนได้เพิ่มมากขึ้นโดยคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของจำนวนบริษัทที่ระดมทุนในปี ๒๕๖๓ ทั้งหมด ต่อมาในปี ๒๕๖๔ จำนวนบริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง ๙๘ บริษัท และในปี ๒๕๖๕ ลดลงอีกเหลือเพียง ๙๐ บริษัท
ในภาพรวม จำนวนบริษัทที่เข้ามาใหม่จากประเทศจีนมีสัดส่วนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับบริษัทจากชาติตะวันตกที่ค่อย ๆ ลดน้อยลง ซึ่งนอกเหนือจากสถานการณ์การเมืองภายในฮ่องกงแล้ว สาเหตุสำคัญที่บริษัทจากชาติตะวันตกมีการระดมทุนในตลาดฮ่องกงลดน้อยลง คือ การที่กลุ่มประเทศตะวันตกได้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกัน ซึ่งวิกฤติเศรษกิจได้รุนแรงขึ้นด้วยข้อพิพาทด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่รัสเซียได้เคลื่อนย้ายกำลังพลเข้าสู่ยูเครนเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ส่งผลให้เกิดวิกฤติพลังงานและปัญหาเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ยาก รวมไปถึงภาคการขนส่งระหว่างประเทศที่ได้หยุดชะงักลง ทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต้องประสบปัญหาขาดทุนและต้องปรับลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย
โดยที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อและไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงในระยะสั้น รัฐบาลทั่วโลกจึงต้องพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดดเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวส่งผลลบต่อตลาดทุนอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตและต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง (Stagflation) และนำไปสู่ปัญหาด้านศักยภาพในการชำระหนี้ของบริษัทต่าง ๆ และจะมีผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจของภาคธนาคาร เนื่องจากอัตรา Nonperforming Loan (NPL) เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธนาคารประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและขาดทุนในที่สุด ซึ่งสะท้อนได้จากการประกาศล้มละลายของธนาคาร Signature bank ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ตามด้วยธนาคาร Silicon Valley bank ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๕ และได้มีการประกาศล้มละลายของธนาคารยักษ์ใหญ่ของยุโรป ได้แก่ Credit Suisse และสภาวะสั่นคลอนของธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Deutsche Bank ของเยอรมัน ส่งผลให้รัฐบาลประเทศเหล่านี้ต้องยื่นมือและออกมาตรการช่วยเหลือและพยายามควบคุมสภาวะสมดุลของทั้งภาคการเงินและภาคธุรกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี ขณะที่ตลาดทุนตะวันตกเผชิญความท้าทาย ตลาดทุนจีนได้ปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้นในระยะ ๓ ปีที่ผ่านมา ด้วยนโยบายที่เน้นการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาและผลักดันไปสู่ New Economy โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เป็นพื้นฐานและกลไกขับเคลื่อน โดยสังเกตได้จากกลุ่มประเภทของบริษัทใหม่ ๆ ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงนับตั้งแต่ ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา
ในอดีตบริษัทที่ระดมทุนจากการทำ IPO ได้มากที่สุด ๕ อันดับแรกในแต่ละปีจะมีลักษณะผสมผสานประกอบด้วยบริษัททั้งจากฝั่งประเทศตะวันตกและตะวันออก กอปรกับประเภทของธุรกิจก็มีลักษณะผสมผสานจากหลากหลายธุรกิจ โดยอธิบายได้จากตาราง Top ๕ ของปี ๒๕๖๒ ข้างล่างนี้
Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2019 (๒๕๖๒) | ||
Rank | Company Name | IPO Funds Raised |
( HK$ Billion ) | ||
1 | Alibaba Group Holding Ltd.-SW | 101.2 |
2 | Budweiser Brewing Co. APAC Ltd. | 45.08 |
3 | CSR Cayman Ltd. | 14.06 |
4 | Shenwan Hongyuan Group Co.,Ltd. | 9.09 |
5 | Hansoh Pharmaceutical Group Co.,Ltd. | 9.04 |
ทั้งนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่ปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ สังเกตได้ว่า บริษัทจากประเทศจีนที่อยู่ใน Top ๕ ของ IPO list ได้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนและเป็นกลุ่มธุรกิจ New Economy ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยนีใหม่เกือบทั้งหมด
Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2020 (๒๕๖๓) | ||
Rank | Company Name | IPO Funds Raised |
( HK$ Billion ) | ||
1 | JD.com, Inc. -SW | 34.56 |
2 | JD Health International Inc. | 31 |
3 | NetEase , Inc. -S | 24.26 |
4 | Yum Cha Holdings, Inc. – S | 17.27 |
5 | China Bohai Bank Co.,Ltd. – H Shares | 15.9 |
Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2021 (๒๕๖๔) | ||
Rank | Company Name | IPO Funds Raised |
( HK$ Billion ) | ||
1 | Kuaishou Technology -W | 48.3 |
2 | JD Logistics, Inc. | 28.27 |
3 | Baidu, Inc. – SW | 23.94 |
4 | Bilibili Inc.- SW | 23.23 |
5 | Xpeng Inc.- W | 16.02 |
ในปี ๒๕๖๕ ประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-๑๙ รวมถึงประเทศจีน ส่งผลให้ประเภทของธุรกิจของบริษัทที่เข้า IPO กลับมาเป็นรูปแบบผสมผสานอีกครั้ง ดังที่ปรากฏในตารางด้านล่าง
Largest IPO Funds Raised by Newly Listed companies in year 2022 (๒๕๖๕) | ||
Rank | Company Name | IPO Funds Raised |
( HK$ Billion ) | ||
1 | China Tourism Group Duty Free Corporation Ltd. | 18.39 |
2 | Tianqi Lithium Corporation – H Shares | 13.46 |
3 | CALB Co.,Ltd. – H Shares | 10.1 |
4 | Sunshine Insurance Group Co.,Ltd. | 6.71 |
5 | Onewo Inc. – H Shares | 6.32 |
ในไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๖ ฮ่องกงได้ประกาศเปิดเมืองเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้ปรับลดมาตรการป้องกันโรคโควิด-๑๙ อย่างต่อเนื่องจนยกเลิกมาตรการฯ ในที่สุดในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนเดินหน้าเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนพร้อมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถกลับมาพัฒนาธุรกิจได้อีกครั้ง โดยมีบริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงจำนวน ๑๘ บริษัทในไตรมาสนี้ แม้ว่าจะยังเป็นจำนวนน้อยและระดมทุนได้ไม่มาก เพียง ๖.๖ พันล้านฮ่องกงดอลลาร์ แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณต่อไปได้ เนื่องจากอัตราการว่างงานในไตรมาสแรกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการผลักดันโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของภาครัฐ และปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า GDP ของฮ่องกงในปีนี้จะเติบโตได้ถึงร้อยละ ๕.๕ และจะมีบริษัทใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด IPO ในปีนี้ประมาณ ๑๑๐ บริษัท
แหล่งที่มาข้อมูล :
– https://www.hkeconomy.gov.hk/en/situation/development/index.htm
– https://www2.deloitte.com/cn/en/pages/audit/articles/mainland-and-hk-ipo-markets-in-q1- 2023.html
– https://www.reuters.com/business/finance/svb-financial-seeks-bankruptcy-protection-2023-03-17/
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
สำหรับการขอรับรองเอกสาร การยื่นและรับเอกสาร 09.30-12.30 น. |