เทรนด์ใหม่ของชาวฮ่องกงกับการเที่ยว ซื้อของ และใช้ชีวิตในเมืองเซินเจิ้น

เทรนด์ใหม่ของชาวฮ่องกงกับการเที่ยว ซื้อของ และใช้ชีวิตในเมืองเซินเจิ้น

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2567

| 2,330 view

1  

เทรนด์ใหม่หลังโควิด-๑๙

เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๖ รัฐบาลฮ่องกงได้ทยอยประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ นักช็อปตัวยงอย่างผู้บริโภคชาวฮ่องกงจึงเริ่ม “เที่ยว + ช็อปล้างแค้น” เพื่อชดเชยช่วงเวลาอันแสนสุขที่หายไปในห้วงดังกล่าวกอปรกับรัฐบาลฮ่องกงได้ริเริ่มโครงการ “Happy Hong Kong” “Hello Hong Kong” และ “Night Vibe Hong Kong” ตลอดปี ๒๕๖๖ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นข่าวดีสำหรับภาคการท่องเที่ยวและการค้าปลีกฮ่องกงที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวฮ่องกงจำนวนมากเริ่มเบื่อหน่ายกับสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งจับจ่ายใช้สอยในฮ่องกงที่แออัดและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงนิยมเดินทาง “ขึ้นเหนือ” ไปยังเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเมืองเพื่อนบ้านใกล้เคียงเพื่อท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยของใช้ประจำวัน และรับประทานอาหารในช่วงวันหยุด สุดสัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณห้างสรรพสินค้าที่ใกล้กับพรมแดนฮ่องกง อาทิ ย่าน Futian และ Luohu

แม้ว่าฮ่องกงกับเซินเจิ้นจะเป็นเมืองเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดและประชาชนของทั้งสองเมืองเดินทางไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอตั้งแต่ในอดีต แต่ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ชาวฮ่องกงนิยมเดินทางไปเซินเจิ้นมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยจากสถิติของสํานักงานตรวจคนเข้าเมืองฮ่องกงพบว่าในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ มีชาวฮ่องกงเดินทางข้ามพรมแดนไปยังเซินเจิ้นมากถึง ๕.๘ ล้านราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อคำนึงว่าฮ่องกงมีประชากรทั้งหมดราว ๗ ล้านคน และในช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน หรือ “Golden Week” เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน – ๒ ตุลาคม ๒๕๖๖ ห้างสรรพสินค้า Shum Yip Upperhills ในเซินเจิ้นมีลูกค้าเป็นชาวฮ่องกงถึงกว่าร้อยละ ๓๐ – ๓๕ ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากจำนวนในช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ ๖๐ โดยผู้บริโภคชาวฮ่องกงใช้จ่ายเฉลี่ยคนละราว ๕,๐๐๐ หยวน (หรือราว ๒๕,๐๐๐ บาท) ต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์จีน Xiaohongshu เปิดเผยว่าเริ่มมีชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตระหว่างสองเมือง โดยเช่าบ้านพักที่เซินเจิ้น แต่ทำงานหรือศึกษาในฮ่องกงระหว่างวันเนื่องด้วยการเดินทางจากตัวเมืองฮ่องกงไปยังจุดผ่านแดนเพื่อข้ามไปยังเซินเจิ้นใช้เวลาไม่ถึง๑ชั่วโมง

เซินเจิ้นคุ้มกว่าและเดินทางสะดวก

ปัจจัยหลักที่ดึงดูดชาวฮ่องกงให้นิยมเดินทางไปเที่ยว ซื้อของ และพักอาศัยที่เซินเจิ้น คือราคาสินค้าบริการ และค่าเช่าบ้านพักของเซินเจิ้นที่ต่ำกว่าของฮ่องกงมาก หากเปรียบเทียบกันง่าย ๆ ดูจากตัวเลข
ของฐานข้อมูลออนไลน์ Numbeo ราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน อาทิ น้ำเปล่าขวดเล็ก ราคาที่ฮ่องกงอยู่ที่ ๘ ดอลลาร์ฮ่องกง (หรือราว ๓๖ บาท) แต่ที่เซินเจิ้นมีราคาเพียง ๒.๕ หยวน (หรือราว ๑๒ บาท) และข้าวสาร ๑ กิโล ราคาที่ฮ่องกงอยู่ที่ ๑๙ ดอลลาร์ฮ่องกง (หรือราว ๘๖ บาท) แต่ที่เซินเจิ้น มีราคาเพียง ๘ หยวน (หรือราว ๔๐ บาท) เรียกได้ว่าราคาที่เซินเจิ้นถูกกว่าเกินครึ่งเลยทีเดียว

ปัจจัยอื่น ๆ ยังมีในเรื่อง (๑) อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงและสกุลเงินหยวนที่ สร้างความได้เปรียบแก่ผู้บริโภคชาวฮ่องกง โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ถดถอย ส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่า (๒) กำลังซื้อ (purchasing power) ซึ่งทั้งสองเมืองก็แตกต่างกันอย่างมาก โดยในปี ๒๕๖๕ รายได้ต่อหัว (GPD per capita) ของฮ่องกงอยู่อันดับแรกของจีนที่ ๔๙,๔๖๔ ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว ๑,๗๓๐,๐๐๐ บาท) มากกว่ากว่าเซินเจิ้นเกือบ ๒ เท่าซึ่งอยู่ที่ ๒๕,๗๑๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว ๙๐๐,๐๐๐ บาท) และ (๓) นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของทางการเซินเจิ้น อาทิ มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT refund) ที่รับคืนเป็นเงินสดได้ทันทีที่ห้างสรรพสินค้า

2

นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว ความเชื่อมโยงทางระบบคมนาคมขนส่งที่แข็งแกร่งระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ยังมีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ชาวฮ่องกงนิยมเดินทางไปเซินเจิ้นมากยิ่งขึ้น โดยในปี ๒๕๖๒ รัฐบาลกลางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศแผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area : GBA) ซึ่งประกอบด้วย วิสัยทัศน์ “One-hour Living Circle” ที่มุ่งพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้การเดินทางระหว่างเมืองภายในพื้นที่ GBA ต่ำกว่า
๑ ชั่วโมง โดยปัจจุบัน มีบริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสถานี Hong Kong West Kowloon ในฮ่องกงกับสถานีต่าง ๆ ในจีนทั้งหมด ๗๓ แห่ง ซึ่งครอบคลุมเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA ทั้งเซินเจิ้น ตงกว่าน และกว่างโจวด้วย นอกจากนี้ ผู้เดินทางยังสามารถเดินทางจากฮ่องกงไปยังเซินเจิ้นผ่านจุดผ่านแดนทางบก ๖ จุด โดยจุดผ่านแดน Lo Wu และ Lok Ma Chau ได้รับความนิยมสูงสุดเนื่องจากเชื่อมต่อโดยตรงกับสถานีรถไฟใต้ดินทั้งในฮ่องกงและเซินเจิ้น

ธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ มาพร้อมกับเทรนด์ใหม่

ด้วยความนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในเซินเจิ้นของชาวฮ่องกงที่มีมากขึ้น จึงเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “Reverse Shopping” หรือการบริการอำนวยความสะดวกชาวฮ่องกงที่ประสงค์ จะซื้อสินค้าต่าง ๆ ในเซินเจิ้น ผิดกับในอดีตที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะนิยมเดินทางข้ามมาฮ่องกงเพื่อกักตุนสินค้า โดยตัวแทนซื้อ (purchasing agent) ชาวจีนจะหาซื้อสินค้าตามคำสั่งซื้อและขนส่งข้ามพรมแดนไปยังฮ่องกง ภายใน ๑ วัน ซึ่งรายได้ของตัวแทนซื้อเหล่านี้อาจสูงถึง ๓,๒๖๐ หยวน (ราว ๑๖,๐๐๐ บาท) ในระยะเวลา ๔ วัน

อีกหนึ่งธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในฮ่องกงเป็นอย่างมาก คือ บริการ “ทัวร์ซูเปอร์มาร์เก็ต” ที่บริษัททัวร์จะพาชาวฮ่องกงเดินทางไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าในเซินเจิ้นเพื่อจับจ่ายใช้สอยสินค้า ในราคาย่อมเยาว์ โดยสถานที่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต Sam’s Club ของบริษัท Walmart และล่าสุด ซูเปอร์มาร์เก็ต Costco ชื่อดังของสหรัฐฯ ได้ประกาศเปิดสาขาใหญ่บริเวณพรมแดนเซินเจิ้นในเดือนมกราคม ๒๕๖๗ นี้ด้วย

3

อนาคตการท่องเที่ยวฮ่องกงยังสดใส

ความนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ช้อปปิ้งและพักอาศัยในเซินเจิ้นของผู้บริโภคชาวฮ่องกงอาจทำให้หลายคนมองว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวฮ่องกง อย่างไรก็ดี ฮ่องกงยังมีจุดแข็งด้านเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม อาหาร และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ยังคงทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้าน การท่องเที่ยว กอปรกับนโยบายของรัฐบาลฮ่องกงที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยใน การแถลงนโยบายประจำปี ๒๕๖๖ ของผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง รัฐบาลฮ่องกงจะจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฮ่องกง ๒.๐ (Development Blueprint for Hong Kong's Tourism Industry 2.0) ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๗ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวใหม่ ๆ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ รวมทั้งเร่งเสริมสร้างบูรณาการภายในพื้นที่ GBA ในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยฮ่องกงจะจัดงานเทศกาล Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area Culture and Arts Festival ในปี ๒๕๖๗ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพื้นที่ GBA

แหล่งที่มาของข้อมูล

“Visitors flock to Hong Kong’s revamped Temple Street night market for debut, with crowds unseen in years enjoying local treats, South China Morning Post" https://www.scmp.com/news/hong-kong/hong-kong-economy/article/3245266/hong-kongs-revamped-temple-street-night-market-offers-dim-sum-turkish-coffee-and-dash-culture

“深圳4大商場港客佔比高達三分之一, 經濟一週 EDigest" https://www.edigest.hk/大灣區/北上-深圳-經一專欄-1202145/20/

“Statistics on Daily Passenger Traffic, Hong Kong Immigration Department" https://www.immd.gov.hk/eng/facts/passenger-statistics-menu.html

“Hong Kong tourism chief says scrapping health declaration rule unlikely to lead to surge in cross-border travel, but catering and retail industries call for more efforts to boost spending, South China Morning Post" https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3239653/hong-kong-tourism-chief-says-lifting-health-declaration-unlikely-create-dramatic-surge-cross-border

“Cost of Living Comparison Between Shenzhen and Hong Kong, Numbeo" https://www.numbeo.com/cost-of-living/compare_cities.jsp?
country1=China&city1=Shenzhen&country2=Hong+Kong+(China)&city2=Hong+Kong

“Shenzhen woos foreign shoppers with tax rebates, The Standard" https://www.thestandard.com.hk/section-news/section/2/258689/Shenzhen-woos-foreign-shoppers-with-tax-rebates

“John Lee supports Shenzhen's measures to facilitate HK people spending in the mainland, The Standard" https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/4/208300/

“深港「反向代購」淚與汗:搬兩大箱逼港鐵跑勻全港 4日賺這個數, HK01" https://www.hk01.com/大國小事/939811/

“Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area Culture and Arts Festival, the Leisure and Cultural Services Department Hong Kong" https://www.cxlo.gov.hk/en/s_inbound/index.html

* * * * * * * * * *

จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองฮ่องกง


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง